เราคือใคร

ประวัติความเป็นมา

อำเภอยี่งอเป็นอำเภอหนึ่งใน ๑๓ อำเภอของจังหวัดนราธิวาสตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลยี่งอ ห่างจากจังหวัดนราธิวาสประมาณ ๑๓ กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ ๑,๑๓๖ กิโลเมตร ซึ่งคำว่ายี่งอ “ยือรืองาว์”  ในภาษามลายู หมายถึง พืชชนิดหนึ่งซึ่งในภาษาไทยว่า “ว่านน้ำ” เนื่องจากภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาถิ่นในท้องที่จังหวัดนราธิวาส มักเพี้ยนไปจากภาษามลายูอันแท้จริง คำ “ยือรืองาว์” จึงเพี้ยนมาเป็น “ยี่งอ” แต่เดิมหมู่บ้านยี่งอ ขึ้นตรงกับเมืองสายบุรี จังหวัดปัตตานี จวบจน ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๕) แยกตัวเป็นอำเภอยี่งอ

     

การใช้บริการสาธารณสุขของประชาชนในเขตอำเภอยี่งอ นอกจากใช้บริการจากสถานีอนามัยในเขตอำเภอยี่งอแล้ว ล้วนต้องพึ่งการบริการจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมีระยะทางเกือบ ๒๐ กิโลเมตร เมื่อได้มีความพยายามของประชาชนชาวอำเภอยี่งอ นำโดยนายแวหะมะ จินาแว และนายมูฮำหมัดซำซูดิง อิสมะแอล สมาชิกสภาจังหวัด อำเภอยี่งอ โดยการรวบรวมที่ดินในเขตหมู่ ๔ บ้านบูเกะปาลัส ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จำนวน ๑๑ ไร่ เพื่อขออำนาจจากสภาผ่านนายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส  และนายนพมาศ พูลศิริ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส  เพื่อให้ทางกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดสร้างโรงพยาบาลขนาด ๑๐ เตียง ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการตามหลักกระทรวงสาธารณสุข

         เมื่อ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ นพ.มงคล  ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่และประชุมร่วมกับประชาชนที่โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และเห็นสมควรที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลขนาด ๓๐ เตียง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ทางอำเภอยี่งอ นำโดยนายไพบูลย์ ยิ้มแย้ม นายอำเภอยี่งอได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นโดยมีนายแวหะมะ  จินาแว สมาชิกสภาจังหวัดเขตอำเภอยี่งอ เป็นประธานการจัดหาที่ดิน และนายนิอาแซ  ซีอุเซ็ง อดีตนายอำเภอบาเจาะ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายวิกรม  ประชุมกาเยาะมาต อดีตสาธารณสุขอำเภอยี่งอ เป็นที่ปรึกษา และได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาทุน โดยมีนายนิอาแซ  ซีอุเซ็ง ประธานที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ นายประเสริฐ  บือสาแม ผู้ช่วยเลขานุการการ นายสันติภาพ  ระหัวภัย ผู้ช่วยเลขานุการการ นายแวหะมะ  จินาแว หัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน เทศบาลตำบลยี่งอ องค์การบริหารส่วนตำบลทุกตำบลและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกตำบลในอำเภอยี่งอเป็นกรรมการ เป้าหมายเพื่อจัดหาที่ดินเพิ่มเติมอีก ๒๙ ไร่

๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ นพ.ศิริชัย  ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลยี่งอ เพื่อเตรียมที่ดินในการก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนยี่งอ ขนาด ๓๐ เตียง โดยเปิดบัญชีกลุ่มกองทุนซื้อที่ดิน สิ่งก่อสร้าง รพ.เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อำเภอยี่งอ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธกส. )  อำเภอยี่งอ เลขที่บัญชี ๐๕๕๒๗๒๘๗๐๙ เป็นเงินเริ่มแรก ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม

๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๑.๓๐ น. นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ในพื้นที่หมู่ ๔ ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๓๓ไร่ ๓ งาน ๖๓.๑ ตารางวา และประชุมคณะกรรมการบริหาร รพ.ยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ณ โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

           ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติโครงการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ในโรงพยาบาลชุมชนทั้ง ๙ แห่ง ดังนี้

๑. โรงพยาบาลพนมดงรัก  จังหวัดสุรินทร์

๒. โรงพยาบาลเบญจลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ

๓. โรงพยาบาลนาวัง  จังหวัดหนองบัวลำพู

๔. โรงพยาบาลเขาชะเมา  จังหวัดระยอง

๕. โรงพยาบาลพระทองคำ  จังหวัดนครราชสีมา

๖. โรงพยาบาลห้วยกระเจา  จังหวัดกาญจนบุรี

๗. โรงพยาบาลยี่งอ  จังหวัดนราธิวาส

๘. โรงพยาบาลวัดจันทร์  จังหวัดเชียงใหม่

๙. โรงพยาบาลหาดสำราญ  จังหวัดตรัง และลำดับท้ายสุดโรงพยาบาลเสาไห้  จังหวัดสระบุรี

เป็นโรงพยาบาลได้เข้าโครงการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาในปีพ.ศ.๒๕๕๓ เพื่อให้มีการบริหารโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นให้มีโครงสร้างและระบบบริหารยึดหลักธรรมาภิบาล เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีระบบบริการที่เน้นงานเวชศาสตร์ครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ และที่สำคัญมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชน  ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐ นพ.สุวัฒน์  เลิศสุขประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี   ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต ๘ และเขต ๙ ,นพ.ภานุวัตน์  ปานเกตุ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ร่วมในลงนามในสัญญาก่อสร้างระยะที่ ๑  จากงบประมาณที่ได้รับค่าก่อสร้าง พร้อมค่าครุภัณฑ์ทั้งหมด เป็นเงิน ๗๓,๒๓๐,๗๐๐ บาท ได้แก่ อาคารผู้ป่วยนอก อาคารผู้ป่วยใน อาคารสนับสนุนบริการ ทางเชื่อมระหว่างตึก บ้านพัก ๕-๖ จำนวน ๑ หลัง บ้านพัก ๔-๕ จำนวน ๓ หลัง แฟลตพยาบาล ๒๔ ยูนิต พร้อมระบบสาธารณูปโภค และรั้วรอบโรงพยาบาล ทางด้านการบริการทางการแพทย์ มีทีมแพทย์และสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์มาออกให้บริการครึ่งวันแก่ประชาชนอำเภอยี่งอ  ณ  สถานีอนามัยยี่งอตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๓   เมื่อมีแผนที่จะเกิดโรงพยาบาลในอำเภอยี่งอ  ทางนพ.ภานุวัตน์   ปานเกตุ  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสได้ขอให้ นพ.อดุลย์  เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส ขณะนั้น มาเสริมการบริการที่สถานีอนามัยยี่งอให้ครบทั้ง ๕ วัน  ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ แต่งตั้งนพ.อดุลย์  เร็งมา เป็นรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ เปิดให้บริการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นครั้งแรก ณ สถานีอนามัยยี่งอ โดยบริการเฉพาะผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉินในวันและเวลาราชการ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ขยายการให้บริการกรณีฉุกเฉินถึงเวลา ๒๐.๐๐ น.

๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑  เปิดบริการผู้ป่วย ๒๔ ชั่วโมง และเริ่มให้บริการผู้ป่วยใน ๙ เตียง  ณ ที่ทำการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาชั่วคราว

พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ แต่งตั้งนพ.อดุลย์  เร็งมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา

พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ โรงพยาบาลรับมอบอาคารจากผู้รับเหมา เพื่อดำเนินปรับปรุงให้พร้อมใช้บริการให้เร็วที่สุด

๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓ ถือปฐมฤกษ์วันมหิดล ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ในการเปิดใช้อาคารผู้ป่วยใน ณ ที่ทำการปัจจุบัน จำนวน ๓๐ เตียง

๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ถือฤกษ์วันพ่อแห่งชาติ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ในโครงการมหกรรมสุขภาพเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒๕๕๓ เป็นการใช้พื้นที่และอาคารโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาทั้งหมด พร้อมเปิดบริการตรวจตา ในโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนโดยมีผู้รับบริการอย่างล้นหลาม และเปิดบริการจวบจนทุกวันนี้

ประวัติโรงพยาบาล